ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อนที่สุดอวัยวะหนึ่งในร่างกายของคนเรา ทำหน้าที่ในการมองเห็นสิ่งต่างๆ ดังนั้นหากเกิดปัญหากับดวงตาก็จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตด้วยเช่นกัน
ตามองเห็นได้โดยผ่านขบวนการดังต่อไปนี้
เมื่อแสงไปตกกระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้าสู่ดวงตา โดยผ่านไปที่กระจกตา (Cornea) ซึ่งเป็นส่วนที่ใสและบริเวณหน้ากระจกตายังมีชั้นฟิล์มน้ำตา (Tear film) ซึ่งมีความสำคัญกับการมองเห็นเช่นเดียวกัน คือชั้นฟิล์มน้ำตาจะช่วยให้ความชุ่มชื้น หล่อลื่นผิวดวงตาและยังช่วยให้กระจกตาเรียบเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นหากมีตาแห้งจะส่งผลให้กระจกตาไม่เรียบและการมองเห็นแย่ลงได้
จาก: https://www.vision-surgery.com
หลังจากนั้นแสงผ่านไปที่รูม่านตา (Pupil) ซึ่งม่านตาจะทำหน้าที่ในการปรับปริมาณแสงที่จะเข้าไปในดวงตา เมื่ออยู่ในที่สว่างรูม่านตาจะมีขนาดเล็กและขยายใหญ่เมื่ออยู่ในที่มืด หลังผ่านรูม่านตาแล้วแสงจะไปที่เลนส์แก้วตา (Lens) โดยเลนส์แก้วตาจะใสและมีความยืดหยุ่น จึงทำหน้าที่ในการรวมแสงที่มาจากภายนอกให้ไปโฟกัสที่จอประสาทตาได้พอดี ซึ่งหลังจากอายุ 40 ปี เลนส์แก้วตาจะลดความยืดหยุ่นลง ทำให้แสงไม่โฟกัสที่จอประสาทตาจึงเกิดสายตายาวขึ้นและเลนส์แก้วตาจะขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามอายุที่มากขึ้นหรือที่เรียกว่าต้อกระจกนั่นเอง เมื่อผ่านเลนส์แก้วตาไปจะพบกับน้ำวุ้นตา (Vitreous Humor) ทำหน้าที่ช่วยในการหักเหของแสง ในคนสูงอายุหรือคนที่มีสายตาสั้นมาก จะมีการเสื่อมของน้ำวุ้นตาทำให้บางครั้งจะเห็นจุดดำลอยไปมาได้ เมื่อแสงผ่านน้ำวุ้นตาแล้วจะไปโฟกัสที่จอประสาทตา (Retina) ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์รับภาพนับล้านเซลล์ ทำหน้าที่ในการแปลงภาพที่มองเห็นเป็นสัญญาณประสาทและส่งต่อไปตามใยประสาท (Nerve fiber) ซึ่งใยประสาทของเซลล์รับภาพเหล่านี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาที่อยู่ด้านจมูก (Nasal retinal fiber) และใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาด้านขมับ (Temporal retinal fiber) ใยประสาททั้งสองส่วนนี้มารวมกันที่ขั้วประสาทตา (Optic disc) และเมื่อออกพ้นลูกตามาจะกลายเป็นเส้นประสาทตา (Optic Nerve)
จากนั้นเส้นประสาทตาจากตาทั้งสองข้างมาเชื่อมต่อกันบริเวณส่วนไขว้ประสาทตา (Optic chiasm) หลังจากนั้นจะแยกออกกลายเป็นลำเส้นใยประสาท (Optic tract) 2 เส้น อยู่ทางซ้ายและทางขวา ซึ่งบริเวณส่วนไขว้ประสาทตานั้นมีความสำคัญคือ ใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาที่อยู่ด้านจมูก (Nasal retinal fiber) ของทั้งสองตาจะวิ่งข้ามไปสู่ลำเส้นใยประสาท (Optic tract) ฝั่งตรงข้าม ส่วนใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาด้านขมับ (Temporal retinal fiber) จะวิ่งไปสู่ลำเส้นใยประสาท (Optic tract) ฝั่งเดิม
จาก : https://www.researchgate.net
ดังนั้นในลำเส้นใยประสาท (Optic tract) แต่ละข้างจะประกอบไปด้วยใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาที่อยู่ด้านจมูก (Nasal retinal fiber) ของตาด้านตรงข้ามรวมกับใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาด้านขมับ (Temporal retinal fiber) ของตาด้านเดียวกัน วิ่งรวมกันไปสู่นิวเคลียสงอคล้ายเข่าด้านข้าง (Lateral geniculate body) หลังจากนั้นใยประสาทที่ออกจากนิวเคลียสงอคล้ายเข่าด้านข้างจะแผ่กว้างและวิ่งไปสู่สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) และโค้งกลับมาสู่สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) และไปสิ้นสุดที่เปลือกสมองส่วนการเห็น (Visual cortex) ซึ่งอยู่ที่กลีบท้ายทอยของสมอง (occipital lobe) เราเรียกใยประสาท เหล่านี้ว่าส่วนแผ่ประสาทตา (Optic radiation)
เมื่อมีความผิดปกติต่างๆ เช่น มีเลือดออก มีเนื้องอกในสมองหรืออุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อส่วนใดส่วนหนึ่งตั้งแต่เส้นประสาทตาจนกระทั่งถึงกลีบท้ายทอยของสมอง จะส่งผลทำให้การมองเห็นในส่วนของลานสายตาผิดปกติไป (Visual field defects) ซึ่งลานสายตาจะผิดปกติอย่างไรขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดความผิดปกตินั้น
เส้นประสาทตาด้านซ้าย (Left optic nerve)
ส่วนไขว้ประสาทตา (Optic chiasm)
ลำเส้นใยประสาทด้านซ้าย (Left optic tract)
ส่วนแผ่ประสาทตา (Optic radiation) ด้านซ้ายที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับ (Temporal lobe)
ส่วนแผ่ประสาทตา (Optic radiation) ด้านซ้ายที่อยู่บริเวณสมองกลีบข้าง (Parietal lobe)
กลีบท้ายทอยของสมอง (occipital lobe)
กลีบท้ายทอยของสมอง (Occipital lobe) เป็นสมองส่วนที่ใช้รับรู้การมองเห็น เมื่อสัญญาณประสาทออกจากสมองกลีบท้ายทอยแล้วนั้น จากสมมุติฐานทางสัญญาณสองทาง (Two-streams hypothesis) จะแยกออกเป็นสองเส้นทาง คือ
ทางสัญญาณด้านล่าง (Ventral stream) มุ่งหน้าไปสู่สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) มีบทบาทในการรู้จำและจำแนกวัตถุ (object identification and recognition)
ทางสัญญาณด้านบน (Dorsal stream) ไปสุดที่สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) มีบทบาทในการแสดงตำแหน่งของวัตถุ เพื่อกำหนดพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหว เช่น เอื้อมมือไปหยิบวัตถุนั้น
จาก : https://entokey.com/neuro-ophthalmology-3/
นอกจากนี้ระบบการมองเห็นยังมีบทบาทสำคัญในระบบควบคุมการทรงตัว (Vestibular system) และระบบการรับรู้อากัปกิริยา (Proprioception) อีกด้วย
ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากการมองเห็นของเราแย่ลงจากสาเหตุต่างๆ เช่น ต้อกระจก สายตาผิดปกติที่ไม่ได้แก้ไข จะมีผลกระทบได้หลายระบบในร่างกาย เช่น การทรงตัวไม่ดี กะระยะต่างๆผิดพลาดส่งผลทำให้เกิดการพลัดตกหกล้ม และหากฝืนเพ่งมากจะเกิดอาการเมื่อยล้าตา ปวดตา ปวดศีรษะ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงได้
“สายตา คือ สิ่งสำคัญในชีวิต”
เราพร้อมที่จะดูแล สิ่งสำคัญ ของชีวิตคุณ ❤️
ขอขอบคุณสำหรับการติดตาม
“ญาซากั้ลลอฮฺ ค็อยร็อน”
Reference: https://www.isoptik.com/th/article/eyecare/3892
ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม
สวัสดีครับ
ดร.ซุล
สายตา คือ สิ่งสำคัญในชีวิต
เราจะดูแลสิ่งสำคัญในชีวิตคุณ ให้ดีที่สุด