การอักเสบของกระจกตา (Keratitis) อาจแบ่งย่อยละเอียดออกไปเป็นการอักเสบตามเนื้อเยื่อชั้นต่างๆของกระจกตา ได้แก่
Epitheliitis หรือ Epithelial keratitis เป็นการอักเสบที่ชั้นผิวกระจกตาชั้นนอก คือ เฉพาะชั้นเยื่อบุผิว (Epithelium)
Stromal keratitis เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นกลาง
Endotheliitis เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นในสุด ซึ่งการอักเสบในเนื้อ เยื่อชั้นนี้ มักเป็นผลจากการอักเสบของม่านตา แล้วลามมาถึงเนื้อเยื่อชั้นในของกระจกตา หรือเป็นการอักเสบหลังการผ่าตัดในลูกตาที่เป็นการอักเสบที่ไม่มีเชื้อโรค/ไม่มีการติดเชื้อ
อนึ่ง คำว่า กระจกตาอักเสบ (Keratitis) เป็นคำรวม หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อชั้นใดชั้นหนึ่งหรือหลายชั้นของกระจกตาก็ได้
นอกจากนั้น กระจกตาอักเสบ ยังแบ่งเป็น การอักเสบที่ไม่ก่อให้เกิดแผลกับกระจกตา(Non ulcerative), และ การอักเสบที่ก่อให้กระจกตาเกิดเป็นแผล (ulcerative หรือ Corneal ulcer) ซึ่งหากเป็นแผล หมายถึงมีการสูญเสียบางส่วนของกระจกตา
จาก : https://www.msdmanuals.com/en-jp/home/eye-disorders/corneal-disorders/corneal-ulcer
ดังนั้น หากใช้คำรวมว่า กระจกตาอักเสบ (Keratitis) จึงเป็นการอักเสบถึงชั้นเนื้อเยื่อกระ จกตาชั้นกลาง/Stroma ไม่ว่าจะเป็นแผล (Ulcer) หรือไม่เป็นแผลก็ได้
ส่วนกระจกตาถลอก (Corneal abrasion) หมายถึง ภาวะที่กระจกตาชั้นเยื่อบุผิวหลุดลอกไปเฉยๆ โดยไม่มีการอักเสบ (การอักเสบ หมายถึง มีเม็ดเลือดขาวเข้ามาอยู่ในบริเวณที่เกิดการอักเสบ) แต่หากกระจกตาถลอก รักษาได้ไม่ดี ก็จะนำไปสู่กระจกตาอักเสบได้ และอาจอักเสบลึกลงถึงเนื้อเยื่อชั้นกลางของกระจกตาได้
จาก : https://en.m.wikipedia.org/wiki/Corneal_abrasion
กระจกตาอักเสบ อาจเกิดจากติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อก็ได้ (เช่น จากโรคภูมิแพ้ หรือจากอุบัติเหตุต่อกระจกตาจากใส่คอนแทคเลนส์) แต่ภาวะติดเชื้อ พบได้มากและรุนแรงกว่า ในบท ความนี้ จึงจะกล่าวถึงเฉพาะ “กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ” เท่านั้น โดยขอเรียกว่า “กระจกตาอักเสบ”
กระจกตาอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?
กระจกตาอักเสบ
สาเหตุของกระจกตาอักเสบติดเชื้อ เกิดจาก เชื้อได้ทุกชนิด ได้แก่
แบคทีเรีย ที่ก่อโรค มีหลายชนิด ขึ้นกับในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละประเทศที่อาจแตกต่างกันได้ แต่ที่พบบ่อย เช่น Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa
ไวรัส ที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อเริม (Herpes) ซึ่งก่อให้เกิดอักเสบได้กับเนื้อเยื่อทุกชั้นของกระจกตา จึงมีอาการรุนแรงลดหลั่นกันตามเนื้อเยื่อกระจกตาที่ติดเชื้อ โดยการติดเชื้อของเนื้อเยื่อชั้นใน จะรุนแรงที่สุด
เชื้อรา ที่พบได้ เช่น Aspergillus หรือ Fusarium
ปรสิต เช่น Acanthamoeba ในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ ซึ่งกรณีนี้จะค่อนข้างยากในการรักษา
อนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้ออะไรใน 4 ประเภทข้างต้น ถ้าเป็นเชื้อปรสิต หรือเชื้อรา ค่อน ข้างยากในการรักษา เพราะไม่ค่อยมียาที่จำเพาะ ถ้าเป็นเชื้อไวรัสก็มักจะเกิดการอักเสบเรื้อรัง เพราะตัวไวรัส จะไปซ่อนอยู่ในปมประสาท จึงส่งผลให้เกิดการอักเสบเป็นใหม่ ซ้ำๆได้ ส่วนถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้กระจกตาทะลุได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการอักเสบของกระจกตาจะเกิดจากจากเชื้อใด การรักษามักต้องใช้เวลานาน
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระจกตาอักเสบ?
โดยทั่วไป กระจกตาอักเสบ จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มด้วยมีรอยแผลถลอก หรือได้รับอุบัติ เหตุที่กระจกตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมฝังตัวบนผิวกระจกตา เชื้อโรคถึงจะแทรกเข้าไประหว่างแผล และก่อโรคได้ (มีเชื้อแบคทีเรียไม่กี่ตัวที่สามารถทะลุเข้ากระจกตา โดยไม่ต้องมีบาดแผลที่สำคัญ เช่น เชื้อหนองใน/Gonococcus) แม้ว่ากระจกตาจะมีการป้องกันตัวเองด้วยขบวนการต่างๆ เช่น การมีผิวที่เรียบ มีน้ำตาอาบอยู่ เพื่อคอยช่วยชะเชื้อโรคและสิ่งสกปรก มีการกระพริบตา มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก เพื่อเลี่ยงภยันตรายต่างๆ ตลอดจนมีเอนไซม์ และสารเคมีในน้ำ ตาที่ฆ่าเชื้อโรคบางชนิดได้ก็ตาม แต่กระจกตาของบางคน ก็อาจมีการติดเชื้อได้ง่าย โดยมีปัจจัยเสี่ยง ต่อไปนี้
มีความผิดปกติของตา เช่น ผู้ที่มีเปลือกตา/หนังตาอักเสบเรื้อรัง ตาแห้ง ขนตาเกเข้าไปในตา ตาโปน ตาหลับไม่สนิท/หนังตาปิดไม่สนิทเมื่อหลับตา จากอัมพาตของเส้นประ สาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งภาวะเหล่านี้ ทำให้การปกป้องลูกตาทำได้ไม่ดี จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายต่อกระจกตา
ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก มีฝุ่น หรือที่เสี่ยงอันตรายต่อตา (เช่น ทำงานในโรงงานที่เสี่ยงต่อสารพิษหรือสารเคมีเข้าตา ช่างก่อสร้างที่มีโอกาสถูกของมีคม ดิน หิน กระเด็นเข้าตา เกษตรกรถูกใบไม้/กิ่งไม้บาดตา/ทิ่มตา) ตลอดจนอุบัติเหตุทั่ว ๆไปในชีวิตประจำวัน เช่น ผงเข้าตา แมลงเข้าตาในคนขี่จักรยานยนต์ เป็นต้น
การใช้คอนแทคเลนส์ ปัจจุบันกระจกตาอักเสบจากการใช้คอนแทคเลนส์มีมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว ด้วยเหตุที่การใช้คอนแทคเลนส์เสมือนหนึ่งมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ที่ผิวกระจกตาตลอดเวลา ทำให้กระจกตาอยู่ในภาวะพร่องออกซิเจนอยู่เสมอ (Hypoxia) และหากใส่อยู่นานๆ เลนส์สกปรก ใส่นอน และ/หรือการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคไม่สมบูรณ์ จะทำให้โอกาสเกิดกระจกตาอักเสบมีมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้คอนแทคเลนส์ตามแฟชั่น (เช่น คอนแทคเลนส์ตาโต คอนแทคเลนส์สี ที่มีการโฆษณากันมากมาย) ตลอดจนราคาของคอนแทคเลนส์ที่ถูกลง จึงทำให้ปัญหานี้มีมากขึ้น
ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคทางกายเรื้อรัง (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง) ผู้ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุต่างๆที่ตาร่วมด้วย
มีการอักเสบที่ลามมาจากอวัยวะใกล้เคียง เช่น จาก หนังตาอักเสบเรื้อรัง, จาก เยื่อตาอักเสบที่บางชนิดลามมายังกระจกตาได้
อนึ่ง ปัจจัย 3 ข้อแรก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกระจกตาอักเสบบ่อยที่สุด
กระจกตาอักเสบมีอาการอย่างไร?
กระจกตาเป็นอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึกมาก การอักเสบจะทำให้ผู้ป่วย มีอาการดังต่อไปนี้เป็นหลัก คือ
ปวดตา เจ็บตา
ตาแดง
ตาสู้แสงไม่ได้/ตากลัวแสง น้ำตาไหลตลอดเวลา
นอกจากนั้น มักจะร่วมกับมี ขี้ตา และสายตาอาจมัวลง ถ้ามีแผลใหญ่ หรือแผลอยู่ตรงกลางกระจกตา
แพทย์วินิจฉัยกระจกตาอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกระจกตาอักเสบได้จาก การตรวจตาแล้วพบแผลบริเวณกระจกตาชัดเจน ร่วมกับตาแดงจากหลอดเลือดรอบๆตาดำ/กระจกตาขยายตัว หากเป็นมากอาจพบหนองในช่องหน้าลูกตา (Hypopyon) ซึ่งหนองนี้เป็นปฏิกิริยาต้านการอักเสบ มักจะไม่มีเชื้อโรค นอกจากกระจกตาที่เป็นแผลมีรูทะลุเกิดขึ้น และแพทย์จะบันทึกถึงบริเวณที่เกิดแผล ขนาดของแผลทั้งความกว้างและความลึก เพื่อไว้เปรียบเทียบในการตรวจติดตามผลการรักษา
นอกจากนั้น คือ การดูลักษณะของแผล เพราะเชื้อโรคบางชนิด ทำให้เกิดแผล ลักษณะ เฉพาะของแผล เช่น แผลจากเชื้อเริม จะมีลักษณะเป็นกิ่งก้าน (Dendritic) เป็นต้น, การดูลักษณะของขี้ตา ร่วมกับประวัติที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้พอวินิจฉัยถึงเชื้อชนิดที่เป็นต้นเหตุ เช่น การใช้คอนแทคเลนส์ หรือเครื่องสำอาง มักจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Pseudomonas, ในผู้ติดสุราเรื้อรัง หรือมีภาวะทุโภชนา มักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Moraxella, หรือในเกษตรกร มักเป็นการติดเชื้อรา เป็นต้น
หากขนาดแผลใหญ่ หรือผ่านการรักษามาบ้างแล้ว แต่แผลยังใหญ่และรุนแรง แพทย์จะทำการขูดขอบแผล ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยมีการย้อมสีพิเศษ เพื่อหาเชื้อต้นเหตุ ตลอด จนการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ขูดขอบแผล เพื่อนำเนื้อเยื่อไปเพาะเชื้อ ดูชนิดของเชื้อ และเพื่อดูการตอบสนองของเชื้อต่อชนิดยาที่จะรักษาได้ผลดี เป็นต้น
“สายตา คือ สิ่งสำคัญในชีวิต”
เราพร้อมที่จะดูแล สิ่งสำคัญ ของชีวิตคุณ ❤️
ขอขอบคุณสำหรับการติดตาม
“ญาซากั้ลลอฮฺ ค็อยร็อน”
Reference: https://haamor.com/กระจกตาอักเสบ
ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม
สวัสดีครับ
ดร.ซุล
สายตา คือ สิ่งสำคัญในชีวิต
เราจะดูแลสิ่งสำคัญในชีวิตคุณ ให้ดีที่สุด